วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทเรียนที่ ๓ ท๓๐๑๐๒ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ๒ (การย่อความ)

บทที่ ๓
การย่อความ       

สาระสำคัญ
                การที่สามารถเก็บใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้อย่างครบบริบูรณ์มีประโยชน์มาก  เพราะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนเราได้  โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา การบันทึกย่อความรู้ไว้ทบทวนก่อนสอบ การตอบข้อสอบที่เป็นอัตนัยก็ต้องอาศัยการย่อความทั้งสิ้น

จุดประสงค์การเรียนรู้
                นักเรียนสามารถเขียนย่อความได้                                      

จุดประสงค์การเรียนรู้ย่อย
๑.      บอกความสำคัญของการย่อความได้ 
๒.    ย่อความจากบทความที่กำหนดให้ได้
๓.     เขียนคำนำตามแบบของการเขียนคำนำย่อความได้ถูกต้อง

เนื้อเรื่อง
ความหมายของการย่อความ
ส่วนประกอบของบทความ
เนื้อหาของบทความ
ประเภทของย่อความ
ส่วนประกอบของย่อความ
หลักในการย่อความ        
ประโยชน์ของการย่อความ






ความหมายของการย่อความ
บุญยงค์  เกศเทศ   ได้กล่าวถึงความหมายของย่อความไว้ว่า                   
ย่อความ หมายถึง การเก็บเนื้อหาสาระสำคัญของเรื่องทั้งหมดมาเรียบเรียงใหม่อย่างสั้น ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถรู้เรื่องยาว ๆ ได้ในเวลาไม่นานนัก ซึ่งสอดคล้องกับของ สุทธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และอุดม  หนูทอง ที่ว่า
การย่อความ คือ การเก็บใจความสำคัญของเรื่องมาเขียนใหม่ เพื่อง่ายแก่การเข้าใจและสะดวกที่จะนำไปใช้ประโยชน์
ซึ่งรวมความแล้วอาจสรุปได้ว่า  การย่อความ คือ การถ่ายทอดใจความสำคัญของเรื่องที่เก็บได้จากการอ่านหรือการฟัง โดยใช้ภาษาของเราเอง

ส่วนประกอบของบทความ
            ทั่วไปส่วนประกอบของบทความต่าง ๆ มี ๒ ส่วน ดังนี้
๑.      ใจความ เป็นข้อความที่สำคัญที่สุด ถ้าตัดใจความออกจะทำให้ไม่เข้าใจบทความนั้น หรือทำให้เนื้อหาสาระในบทความนั้นเปลี่ยนแปลงไป
๒.    พลความ เป็นข้อความที่ขยายใจความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนของพลความนี้ถึงจะขาดหายไปหรือตัดออกไป ก็ไม่ทำให้เนื้อหาสาระในบทความนั้นเปลี่ยนแปลง

เนื้อหาของบทความ
เนื้อหาของบทความไม่ว่าจะเป็นในบทพูดหรือบทเขียน แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ  ดังนี้ 
๑.      ข้อเท็จจริง คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำอะไร   ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร มีสภาพ มีลักษณะ มีขนาด มีปริมาณ ที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น   
นายวิโรจน์  ประพฤติดี สอบได้ที่ ๑
๒.    ข้อคิดเห็น  คือ ข้อความแสดงความเชื่อ หรือแสดงแนวคิด หรือแสดงความรู้สึกที่ผู้กล่าวมีต่อบุคคลใด หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่อาจพิสูจน์ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดหรือผู้เขียน เช่น
นายวิโรจน์  ประพฤติดี คงขยันเรียน
๓.     ข้อความแสดงอารมณ์ความรู้สึก เป็นข้อความที่ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านรู้ได้ว่าผู้ส่งสารมีอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างไร เช่น เศร้าโศก เหงา ดีใจ ฯลฯ เช่น
ผมสะท้อนใจทุกครั้งที่เอาผลการเรียนไปให้คุณแม่ ผมไม่เคยทำตามที่ท่านหวังได้เลยสักครั้ง


ประเภทของการย่อความ                 
การย่อความอาจแบ่งได้ ๒ แบบ ดังนี้ 
๑.      แบ่งตามรูปแบบของบทความที่นำมาย่อ  ได้ ๒ ประเภท คือ
๑.๑    การย่อบทความที่เป็นร้อยแก้ว
๑.๒                   การย่อบทความที่เป็นร้อยกรอง
๒.    แบ่งตามลักษณะของเนื้อเรื่องที่ย่อแล้ว  ได้ ๒ ประเภท คือ
๒.๑    การย่อความอย่างธรรมดา คือ การย่อที่นำเอาเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญหรือที่เรียกว่าใจความและพลความที่สำคัญ ที่เด่นในแต่ละย่อหน้ามาเรียบเรียงด้วยถ้อยคำสำนวนของผู้ย่อเอง
                                    ประโยชน์ของการย่อความแบบธรรมดา คือ
๑.      การเก็บข้อมูลเพื่อเขียนเรียงความและเขียนรายงานวิชาการ
๒.    การบันทึกทางวิชาการ เพื่อทบทวนความคิด ความจำในการเตรียมสอบ
๒.๒   การย่อความอย่างสั้นที่สุด หรือที่เรียกว่า การสรุปความ คือ การย่ออย่างสั้นที่สุดจะกล่าวเฉพาะความคิดที่สำคัญที่สุด โดยไม่ต้องนำพลความที่สำคัญมาประกอบ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ด้วยถ้อยคำสำนวนของผู้ย่อเอง ผู้ย่อต้องตีความหรือจับความคิดของผู้เขียนให้ได้ว่าต้องการเสนอเรื่องใดเป็นสำคัญ
                                    ประโยชน์ของการสรุปความ คือ
๑.      เมื่อต้องการกล่าวเฉพาะประเด็นความคิดที่สำคัญที่สุด        
๒.    เป็นประโยชน์ในการสรุปเรียงความ และการตอบข้อสอบที่ต้องการให้ตอบสั้น ๆ

วิธีการย่อความ  ส่วนที่เป็นเนื้อหา
๑.  อ่านบทความที่จะย่อทั้งเรื่องให้เข้าใจโดยตลอด
๒.   พยายามจับความคิดของผู้เขียนว่า ต้องการเสนอเรื่องใดเป็นสำคัญ
๓.  จับใจความสำคัญของเรื่องให้ได้ โดยตั้งคำถามไว้ในใจ ดังนี้

เรื่องอะไร เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร บังเกิดผลเป็นเช่นใด
        หรือ
เรื่องอะไร มีใคร หรืออะไร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร บังเกิดผลเช่นใด
        หรือ
เรื่องอะไร มีใคร ทำอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร บังเกิดผลเช่นใด

๔.   นำใจความทั้งหมดที่จับได้มาเรียบเรียงใหม่
หลักในการย่อความ 
๑.    เรียบเรียงใหม่โดยใช้สำนวนภาษาของผู้ย่อเอง
๒.   คำที่ยากและยาวให้เปลี่ยนใช้คำธรรมดาที่เข้าใจง่าย
๓.   ให้เปลี่ยนสรรพนามบุรุษที่ ๑ และ ๒ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ โดยอาจเอ่ยชื่อแทน     สรรพนามบุรุษที่ ๓
๔.   ถ้าเป็นบทสนทนาต้องเปลี่ยนเป็นแบบเรื่องเล่า และไม่ควรมีเครื่องหมายคำพูด หรือเครื่องหมายใดๆ
๕.   ถ้าเป็นร้อยกรองต้องเปลี่ยนเป็นภาษาธรรมดา
๖.      ย่อจดหมายต้องใช้ข้อความบอกเล่า โดยใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ ทั้งหมด              
๗.     ถ้ามีคำราชาศัพท์ และใจความสำคัญต้องใช้ราชาศัพท์ ให้คงราชาศัพท์นั้นไว้
๘.     เนื้อความที่ย่อแล้วไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับของเรื่องเดิม แต่ให้คำนึงถึงการที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด และได้ใจความดีที่สุด
๙.      ไม่มีชื่อเรื่องต้องตั้งชื่อเรื่องด้วย โดยชื่อเรื่องต้องมีลักษณะ ดังนี้
๙.๑     ใช้ความสำคัญเป็นชื่อเรื่อง
๙.๒    ชื่อเรื่องต้องกะทัดรัด และคลุมใจความสำคัญทั้งหมด
๑๐.  เขียนให้ถูกต้องตามแบบของการย่อความ ดังนี้
๑๐.๑  ใช้แบบขึ้นต้นคำนำตามประเภทของเรื่องที่จะย่อเขียนนำเป็นย่อหน้าแรก
๑๐.๒ เขียนข้อความที่ย่อแล้วในย่อหน้าต่อไป ส่วนใหญ่ใจความที่ย่อแล้วจะเหลือ
เพียงย่อหน้าเดียว เว้นแต่ข้อความเดิมเป็นเรื่องต่างกัน แยกกันเป็นตอน ๆ อยู่แล้ว
           
ส่วนประกอบของการย่อความ                 
ย่อความมีส่วนประกอบสำคัญ  ๒ ส่วน คือ
๑.      ตอนนำเรื่อง หรือส่วนนำของการย่อความ
๒.    ใจความที่ย่อแล้ว
ฉะนั้นในการย่อความจึงมักมี ๒ ย่อหน้า ดังนี้
        ย่อหน้าที่ ๑  ส่วนนำของการย่อความ
        ย่อหน้าที่ ๒  ใจความสำคัญ         




        ตัวอย่างส่วนประกอบของการย่อความ  ที่เป็นนิทาน
        นิทานเรื่อง.............................ของ.....................................จาก........................    ส่วนที่ ๑
ความว่า
                        (ใจความที่ย่อแล้ว)...........................................................................................    ส่วนที่ ๒
.............................................................................................................................................
...........................................................................................................


แบบส่วนนำของย่อความ               
ส่วนนำของการย่อความ หรือแบบขึ้นต้นย่อความ เป็นการนำเรื่องให้ผู้อ่านได้ทราบที่มาของเรื่อง เพื่อช่วยความเข้าใจ และสะดวกแก่ผู้สนใจที่จะไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อความเดิม
แบบส่วนนำของย่อความที่ใช้กันโดยมาก คือ
๑.      ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นความเรียง นิทาน ตำนาน ประวัติ ฯลฯ ต้องบอกประเภท ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ที่มาของเรื่องเท่าที่จะรู้ได้ ถ้าเดิมไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องไว้ต้องตั้งชื่อเรื่องด้วย เช่น
               นิทาน เรื่อง.................................ของ.....................................จาก..................................  
ความว่า
                        ........................................................................................................................................   
.............................................................................................

๒.    ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นประกาศ แถลงการณ์ คำสั่ง ระเบียบ ฯลฯ ต้องบอกประเภทของเรื่อง ชื่อเรื่อง ผู้รับ วันเดือนปีที่ออกเท่าที่จะรู้ได้  เช่น
        ประกาศ  ของ..................................แก่................................ลงวันที่...............................  
ความว่า
                                .......................................................................................................................................
............................................................................................






๓.     ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นคำปราศรัย สุนทรพจน์ พระราชดำรัส  ฯลฯ ต้องบอกประเภท เจ้าของเรื่อง ผู้ฟัง โอกาสที่กล่าว สถานที่กล่าว วันเวลาที่กล่าวเท่าที่รู้
        คำปราศรัย   ของ.................................แก่.................................ลงวันที่.......................... 
ความว่า
                                .......................................................................................................................................  
.............................................................................................

๔.     ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นรายงาน บันทึก คำกราบบังคมทูล ฯลฯ ต้องบอกประเภท  เจ้าของเรื่อง  เรื่อง  ผู้รับ โอกาสที่กล่าว วันเวลาที่กล่าวเท่าที่รู้
        รายงาน   ของ.................................เรื่อง.................................แก่..................................
ในโอกาส.........................................วันที่.....................................ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................

๕.     ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นปาฐกถา คำบรรยาย คำสอน บทความ ฯลฯ ต้องบอกประเภท  ชื่อเรื่อง  เจ้าของเรื่อง  ผู้ฟัง สถานที่  และเวลาที่แสดงเท่าที่รู้
        ปาฐกถา  เรื่อง..................................ของ..................................แก่................................. ที่.................................วันที่...................................เวลา........................... ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................

๖.      ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นจดหมาย หนังสือราชการ สาส์น พระราชสาส์น  ต้องบอกประเภท   เจ้าของเรื่อง  เลขที่ของหนังสือ  ผู้รับ  ชื่อเรื่อง  วันเดือนปีที่เขียนเท่าที่รู้
        จดหมาย  ของ ..................................ถึง................................ลงวันที่.............................. ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................
        สาส์น ของ....................................ที่....................................ถึง.......................................ลงวันที่...................................เรื่อง........................... ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................
๗.     ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นจดหมายเหตุ จดหมายรายวัน บันทึกความจำ ฯลฯ  ต้องบอกประเภท   เจ้าของเรื่อง  โอกาสที่เขียน วันเดือนปีที่เขียน  ชื่อเรื่องเท่าที่รู้
        จดหมายเหตุ ของ.............................ในโอกาส..............................ลงวันที่......................เรื่อง........................... ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................

๘.     ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นเทศนาโอวาท  พระบรมราโชวาท ฯลฯ   ต้องบอกประเภท   เจ้าของเรื่อง  ผู้ฟัง โอกาสที่แสดง สถานที่แสดง วันเดือนปีที่แสดงเท่าที่รู้
        โอวาท ของ....................................แก่..................................เนื่องใน.............................ที่........................... วันที่..................................................ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................

๙.      ถ้าเรื่องที่จะย่อ เป็นคำประพันธ์ต้องบอก  ชื่อเรื่อง เจ้าของเรื่อง  ที่มาของเรื่อง  แล้วย่อใจความเป็นร้อยแก้ว 
        คำประพันธ์..................................เรื่อง.......................................ของ.............................จาก...................................................ความว่า
                                .......................................................................................................................................   
.............................................................................................

ประโยชน์ของการย่อความ
๑.      มีประโยชน์ในการบันทึก เช่นบันทึกการประชุมกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ผู้อื่นได้ทราบสาระสำคัญในการประชุมครั้งนั้น ๆ
๒.    มีประโยชน์ในการช่วยเตือนความจำ เช่น จดย่อคำอธิบายของครู จดย่อความรู้จากการฟังและการอ่าน ทำให้ไม่ต้องอ่านทวนซ้ำทั้งเล่ม
๓.     มีประโยชน์ในการนำไปใช้ เช่น การตอบข้อสอบแบบอัตนัย การเล่าเรื่องย่อให้ผู้อื่นฟัง
สรุปอย่างสั้น ๆ ได้ว่า    สะดวกต่อการบันทึก จดจำ  และนำไปใช้



ตัวอย่างย่อความ
เรื่องพ่อค้า ๒ คน
พ่อค้าคนหนึ่ง มีความจำเป็นต้องเดินทางไปค้าขายยังแดนไกล  เขามีความเป็นห่วงในทรัพย์สินและบ้านเรือนของเขาเป็นอันมาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องไป  เขามีเพื่อนบ้านเรือนเคียงอยู่คนหนึ่งซึ่งได้คบกันมาเป็นเวลานาน  เพราะมีฐานะเป็นพ่อค้าเช่นเดียวกันกับเขาในครั้งนี้เนื่องจากเขาจะเดินทางเป็นเวลานานมาก  จึงคิดว่าควรจะฝากของมีค่าของเขาไว้เสียกับเพื่อนบ้านเพื่อจะได้เป็นที่ปลอดภัยจากการถูกขโมย  คิดดังนั้นแล้วเขาก็นำเงินแท่งหนักถึงหนึ่งร้อยกิโลกรัม  บรรจุใส่ถุงผ้าอย่างดีนำไปฝากเพื่อนบ้านตามที่คิดไว้  แล้วก็ออกเดินทางไปค้าขายตามความตั้งใจเดิม
หลังจากวันเดินทางหนึ่งเดือนพอดี  พ่อค้าผู้นั้นก็ได้กลับมาถึงบ้านเดิม  เขารีบตรงไปหาเพื่อนบ้าน  และออกปากขอเงินแท่งที่เขาได้ฝากไว้  เพื่อนบ้านเขาร้องว่า   เงินทองเพื่อนนะหรือ ?  อนิจจา.... เราเสียใจจริงๆ  ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกันดี  หนูมันกินเสียจนหมดแล้วซี  เราดุด่าว่าคนของเรามากมาย  เพราะไม่ค่อยระวังรักษาทรัพย์สินที่เพื่อนนำมาฝากไว้  แต่ก็นั่นแหละอะไรจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกเวลาไม่ใช่หรือ?   พ่อค้าผู้นั้นแม้จะรู้สึกประหลาดใจเต็มทีแต่ก็ทำเป็นซื่อ  เชื่อถือในเรื่องโกหกที่เขารับฟังจากเพื่อนบ้าน  แต่ในใจของเขานั้นครุ่นคิดหาอุบายที่จะนำเงินแท่งทั้งหมดของเขาคืนมาให้ได้
                                หลายวันต่อมาพ่อค้าผู้นั้นบังเอิญได้พบกับบุตรชายอายุประมาณ  ๑๐ ขวบ  ของเพื่อนบ้านซึ่งโกงเงินของเขาไป  จึงได้พาตัวเด็กไปซ่อนไว้ที่บ้านของเขาเองโดยไม่มีใครรู้เห็น  แล้วตัวเขาเองก็ออกไปเชิญเพื่อนบ้านคนนั้นให้ไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับเขา  แต่ชายพ่อค้าพ่อของเด็กรีบบอกว่า  ขอโทษด้วยเถิด  ขอให้ฉันได้ขอโทษในการที่ต้องปฏิเสธความใจดีของเพื่อนในครั้งนี้สักครั้งเถิด  ชายเพื่อนบ้านกล่าวด้วยน้ำตานองหน้า  ส่วนพ่อค้าแกล้งทำหน้าฉงนอย่างไม่เข้าใจ  ชายเพื่อนบ้านจึงเล่าให้ฟังต่อไปว่า  ฉันเห็นจะหมดความสุขไปชั่วชีวิตนี้เสียแล้ว  ฉันมีลูกเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง  ฉันรักเขายิ่งกว่าตัวฉันเองเสียอีก  แต่ว่าโธ่เอ๋ย! อนิจจา... ฉันคงไม่เห็นหน้าเขาอีกแล้ว  เขาหายไปไม่รู้ว่าใครมาลักพาเขาไปเสียแล้ว  กล่าวจบเพื่อนบ้านของพ่อค้าก็ปล่อยโฮออกมาอีกโดยไม่ละอายเลยแม้สักนิด  เมื่อเห็นดังนั้นพ่อค้าจึงเอ่ยขึ้นว่า 
ก็เรื่องนี่แหละที่เราชวนเพื่อนมากินอาหารเย็นด้วยกัน  เพื่อจะได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี  เพราะเมื่อวานนี้ตอนตะวันตกดิน  เราได้เห็นนกเค้าแมวตัวหนึ่งถาลงมาโฉบเอาลูกชายของท่านบินหายไปในอากาศ  เราช่วยเขาไว้ไม่ทัน  เพราะมันมืดมองไม่เห็นถนัดว่า  นกตัวนั้นมันพาลูกชายของเพื่อนบินไปทางไหน ? ”
                ชายผู้เป็นพ่อของเด็กที่หายไปพูดขึ้นว่าเพื่อนจะให้เราเชื่อได้อย่างไรกัน?  นกเค้าแมวตัวเล็กนิดเดียวเท่านั้นเองจะสามารถโฉบเอาลูกของเราซึ่งมีน้ำหนักมากมายอย่างนั้นไปในอากาศได้อย่างไรกัน?  เพื่อนเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้เราฟังกันนี่? ความจริงแล้วลูกเราน่าจะเป็นฝ่ายที่จับนกเค้าแมวตัวนั้นมาขังไว้มากกว่า  ที่จะถูกมันโฉบแล้วพาหายไปในอากาศอย่างที่เพื่อนบอกให้ฟัง  ชายพ่อค้าตอบว่า  อันนี้เราก็ไม่รู้จะบอกเพื่อนอย่างไรดี  แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ  เพราะเราก็ได้เห็นมากับตาของเราเอง  แต่ก็รู้สึกว่าไม่น่าสงสัยอะไรเพราะมันน่าจะเป็นไปได้ที่นกเค้าแมวตัวเล็กๆ โฉบเอาลูกของเพื่อนไปได้  เพราะหนูตัวเล็กๆ ก็ยังสามารถกินเงินแท่งซึ่งมีน้ำหนักตั้งร้อยกิโลไปได้อย่างสบายๆ นี่นา  พ่อของเด็กเริ่มเข้าใจว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร  จึงได้รีบวิ่งกลับไปที่บ้านนำเอาเงินแท่งทั้งหมดมาคืนให้พ่อค้าไป  แล้วเขาก็รับตัวลูกชายคืนไป
                                นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  อุบายของเราอาจทำลายตัวเราเองได้เช่นเดียวกัน
                                                                                (คัดจากนิทานอีสป  รวบรวมโดย วิณณา หน้า ๗๖ ๘๐)
เมื่ออ่านแล้วอาจพิจารณาได้ดังนี้
                ย่อหน้าที่ ๑ 
                ประโยคใจความสำคัญ       พ่อค้าคนหนึ่งต้องเดินทางไปค้าขายแดนไกล  เขาจึงเอาเงินแท่งหนักหนึ่งร้อยกิโลกรัมไปฝากเพื่อน
                ประโยคพลความที่เด่น      เพื่อนอยู่บ้านใกล้กัน  สนิทสนมกันมานาน
                ย่อหน้าที่ ๒
                ประโยคใจความสำคัญ       -  หนึ่งเดือนต่อมาเขากลับบ้านและไปทวงเงินแท่งคืน เพื่อนไม่มี    
                                                          จะคืน  
                                                                -  พ่อค้าทำเป็นเชื่อคำพูด  และคิดอุบายในใจ              
                ประโยคพลความที่เด่น      -  เพื่อนบอกว่าหนูกัดกินเงินหมดแล้ว สุดวิสัยที่จะช่วยได้
                                                                -  พ่อค้าคิดอุบายที่จะเอาเงินคืนมา
                ย่อหน้าที่ ๓
                ประโยคใจความสำคัญ       ๑.  หลายวันต่อมาพ่อค้าจับลูกเพื่อนไปขังไว้               
                                                                ๒. พ่อค้าไปเชิญเพื่อนมารับประทานอาหารด้วยกัน
                                                                ๓. เพื่อนปฏิเสธ
                                                                ๔. พ่อค้าบอกว่าเห็นนกเค้าแมวคาบลูกชายเพื่อนไป
                ประโยคพลความที่เด่น      ๑. พ่อค้าพบลูกเพื่อนโดยบังเอิญจึงจับไปขังไว้       
                                                                ๒. เพื่อนกำลังเศร้าโศกที่ลูกหายไป
                ย่อหน้าที่ ๔
                ประโยคใจความสำคัญ       ๑.  เพื่อนไม่เชื่อพ่อค้า                              
                                                                ๒. พ่อค้าบอกว่าเห็นมากับตา               
                ประโยคพลความที่เด่น      ๑.  เพื่อนไม่เชื่อว่านกเค้าแมวจะคาบลูกชายได้    
                                                                ๒. พ่อค้าเปรียบเทียบว่าหนูตัวเล็กๆ ยังกินเงินแท่งได้

ย่อความได้ ดังนี้
            นิทานเรื่องพ่อค้าสองคน  ของอีสป จากหนังสือนิทานอีสป  รวบรวมโดยวิณณา หน้า ๗๖- ๘๐
ความว่า
                พ่อค้าคนหนึ่งต้องเดินทางไปค้าขายยังแดนไกล  เขาจึงเอาเงินแท่งหนักหนึ่งร้อยกิโลกรัมไปฝากไว้กับเพื่อนพ่อค้าซึ่งอยู่บ้านใกล้กันและสนิทสนมกันมานาน  หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเขากลับมาแล้วรีบไปหาเพื่อนเพื่อรับเงินแท่งที่ฝากไว้คืน  เพื่อนบ้านบอกว่าหนูกัดกินเงินของเขาหมดแล้ว  สุดวิสัยที่จะช่วยได้ พ่อค้าทราบว่าเพื่อนของเขาพูดเท็จจึงคิดอุบายที่จะเอาเงินคืนมา  หลายวันต่อมาเขาได้พาบุตรชายของเพื่อนไปซ่อนไว้ที่บ้านของเขา  แล้วไปเชิญเพื่อนบ้านให้มารับประทานอาหารกับเขา  เพื่อนบ้านปฏิเสธเพราะกำลังมีความทุกข์ที่ลูกชายหายไป  พ่อค้าจึงบอกว่าเขาเห็นนกเค้าแมวคาบลูกชายของเพื่อนไป แต่เขาช่วยไว้ไม่ทัน  เพื่อนของเขาไม่เชื่อว่านกเค้าแมวคาบลูกชายเขาได้  พ่อค้าบอกว่าไม่น่าแปลกใจเลยเพราะหนูตัวเล็กยังกัดกินเงินแท่งได้  เพื่อนเขาจึงเข้าใจและรีบวิ่งกลับไปบ้านนำเงินแท่งทั้งหมดมาคืน  และรับตัวลูกชายของตนกลับไป

  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


กิจกรรม

บทที่ ๔
เรื่องการย่อความ

ตอนที่ ๑
๑.      แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม แล้วให้นักเรียนอ่านบทสนทนาข้างล่างนี้แล้วร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทสนทนาในหัวข้อต่อไปนี้
๑.๑       บทสนทนากล่าวถึงสิ่งใด
๑.๒      บทสนทนาต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องใด ว่าอย่างไร
บทสนทนา
                นกและน้อยมีบ้านอยู่ไม่ไกลกันนัก ทั้งสองเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกัน วันหนึ่งอาจารย์สั่งให้ทำรายงานเรื่องการเขียนรายงานเชิงวิชาการ นกจึงยืมหนังสือของอาจารย์กลับมาอ่านที่บ้าน บอกอาจารย์ว่าจะนำไปคืนในวันอาทิตย์
ตอนเช้าของวันอาทิตย์น้อยยังทำรายงานไม่เสร็จ จึงโทรศัพท์ไปหาอาจารย์เพื่อขอยืมหนังสือต่อจากนก อาจารย์อนุญาตน้อยจึงไปหานก แม่ของนกบอกว่านกออกไปขึ้นรถสองแถวที่หน้าปากซอยจะเอาหนังสือไปคืนอาจารย์ รถกำลังจะออกพอดี
น้อย : นกจะไปไหนเหรอ
นก : เอาหนังสือไปคืนอาจารย์ไปด้วยกันมั๊ย
น้อย : ไม่ไปหรอกแต่งตัวไม่สุภาพ เออ..เมื่อกี้เราโทร.ไปหาอาจารย์ปรึกษาเรื่องทำรายงานอาจารย์
            แนะนำหนังสือให้เราเล่มหนึ่ง อาจารย์บอกว่าใช้ประกอบการเขียนรายงานเรื่องนี้ได้ดีทีเดียวล่ะ
.....รถวิ่งออกไป....
นก : รถออกแล้ว เดี๋ยวฉันกลับมาเราค่อยคุยกันนะ
น้อย : เอ้อ..ฉัน..นกกลับมาก่อน
.....ส่วนอาจารย์คิดว่านกคงไม่เอาหนังสือมาคืนเพราะน้อยคงไปบอกยืมต่อ จึงออกธุระข้างนอกโดยไม่ได้สั่งอะไรไว้ นกไปถึงบ้านอาจารย์ฝากหนังสือไว้กับลูกของอาจารย์ แล้วนกก็ไปทำธุระให้คุณแม่ต่อ กลับถึงบ้านก็เย็นมากแล้ว พบน้อยรออยู่ที่บ้าน น้อยเห็นนกก็ดีใจคิดว่าอาจารย์คงบอกนกและฝากหนังสือกลับมาให้....
นก : มีธุระอะไร หรือน้อย มาเสียเกือบค่ำ
น้อย : เรามาเอาหนังสือที่ยืมอาจารย์ไว้
นก    : เอ้า! ก็เราเอาไปคืนอาจารย์เมื่อเช้าแล้วไง
น้อย  : แล้วอาจารย์ไม่บอกหรือว่าเรายืมต่อ เมื่อเช้าเราบอกเธอไม่ทัน
นก    : เราไม่เจออาจารย์เราเลยฝากไว้ โธ่! น้อย เมื่อเช้าถ้าเธอจะพูดแบบสรุปสั้นๆ เธอก็จะได้หนังสือ
            ฉันก็จะได้ไม่เสียเวลาไปบ้านอาจารย์ด้วย ไม่น่าเลย
น้อย  : เรา.....

๒.    ให้นักเรียนฟังนิทานจากแถบบันทึกเสียง แล้วทำกิจกรรมต่อไปนี้
๒.๑      เล่าเรื่องย่อ
๒.๒    สรุปเรื่องอย่างสั้นที่สุด
๒.๓     ตั้งชื่อเรื่อง
๓.     กำหนดให้นักเรียนไปฟังรายการธรรมะจากโทรทัศน์ในวันหยุด แล้วสรุปสาระของเรื่องที่ฟังส่งครู
๔.     ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มหาบทความประเภทใดก็ได้ ๑ เรื่อง แล้วให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้
๔.๑      ย่อบทความนั้น
๔.๒     สรุปบทความนั้น
๔.๓     ถ้าบทความยังไม่มีชื่อให้ตั้งชื่อบทความนั้น
๔.๔     ออกข้อสอบเกี่ยวกับบทความนั้น ๓ ข้อ พร้อมเฉลย

ตอนที่ ๒  จงตอบคำถามต่อไปนี้
๑.      จงอธิบายความหมายของการย่อความพอเข้าใจ
๒.    บทความต่างๆ มีส่วนประกอบกี่ส่วน อะไรบ้าง
๓.     จงอธิบายถึงหลักของการย่อความพอเข้าใจ
๔.     จงบอกประโยชน์ของการเขียนย่อความมา ๓ ข้อ
๕.     จงบอกถึงการใช้ภาษาในการย่อความมาพอเข้าใจ

ตอนที่ ๓  จากรายละเอียดที่กำหนดให้ ให้นักเรียนเขียนคำนำย่อความให้ถูกต้อง
๑.      นิทานอีสปรวบรวมโดยวิณณา จากหนังสือนิทานอีสป หน้า ๑๐๑ เรื่องม้ากับลา
๒.    นายสมัคร สุนทรเวช ปราศรัยที่ท้องสนามหลวง แก่ประชาชน เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๔
๓.     จดหมายถึงเพื่อน ผู้รับชื่อนายชาตรี สุนทร ผู้เขียนชื่อนายดำรง สามัคคี เขียนเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๓
ตอนที่ ๔  จงย่อความจากหัวข้อต่อไปนี้  แล้วเขียนให้ถูกต้องตามหลักการย่อความ
๑.      ให้นักเรียนย่อข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันที่นักเรียนสนใจ ๑ ข่าว  โดยตัดข่าวนั้นมาแปะไว้ด้วย
๒.    ให้นักเรียนย่อบทความ ๑ เรื่อง โดยนักเรียนหาบทความมาเอง                  
๓.     ให้ย่อความเรื่องที่กำหนดให้  ต่อไปนี้                                                
๓.๑    กษัตริย์เอี่ยงตี่ แม้จะกระทำสิ่งที่ไม่ดีหลายอย่าง แต่การปราบปรามชนเผ่าต่างๆ และการเจาะภูเขาไทฮั้งให้ติดต่อกันได้ การสร้างกำแพงเมืองจีนเพิ่มเติม ก็นับว่าได้ทรงสร้างความดีไว้มากอยู่แล้ว แต่ความดีอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์เอี่ยงตี่ที่ไม่มีกษัตริย์ใดเทียบเท่าก็คือการขุดคลองจากภาคเหนือมาถึงภาคใต้  ซึ่งต่อมาได้มีการขุดเพิ่มเติมอีกรวมมีความยาวถึง ๑,๖๐๐ กิโลเมตร  แม้นักประวัติศาสตร์จีนจะหาว่า   การขุดคลองนี้เพื่อความสำราญของกษัตริย์เอี่ยงตี่เพื่อเสด็จชมความงามของภาคใต้ก็ตาม  แต่เนื่องด้วยคลองนี้จึงทำให้จีนเหนือและจีนใต้มีการติดต่อกัน  การค้าในระหว่างกันจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีพ่อค้ามาชุมนุมกันที่แม่น้ำแยงซีถึง ๔๐ กว่าแคว้น  และยังทำให้เรือของกวางตุ้งมาถึงแม่น้ำแยงซีได้ด้วย  ยิ่งกว่านั้นวัฒนธรรมระหว่างจีนเหนือจีนใต้และกวางตุ้งซึ่งแตกต่างกันมากในสมัยนั้นได้มีโอกาสติดต่อแลกเปลี่ยนในระหว่างกัน  คุณความดีอันยิ่งใหญ่ในการขุดคลองนี้เป็นคุณความดีที่หาค่ามิได้  และเป็นประโยชน์ตลอดกาลไม่มีวันสิ้นสุดตราบเท่าที่ยังมีประเทศจีนอยู่  ถ้าจะหักลบกลบหนี้ในการกระทำที่ไม่ดีแล้วก็น่าจะยังมีความดีเหลืออยู่อีกมากมาย (คัดมาจากหนังสือ ประวัติวัฒนธรรมจีน เรียบเรียงโดย ล.เสถียรสุต หน้า ๑๔๒)
๓.๒   ผิดเป็นครูบูราณท่านสั่งสอน                        ฉันแต่งกลอนมาก็มากอยากจะขาน
ล้วนแต่ผิดน่าอายหลายประการ                               คนเขาอ่านแล้วก็ชี้ที่ผิดมา
ฉันขอบใจได้ครูคอยแก้ไข                                         ไม่เสียใจแต่สักนิดกิจศึกษา
เพียรฝนทั่งเป็นเข็มเต็มปัญญา                                 ใครจะว่าอย่างไรไม่อินัง
เขาเยาะว่าตั้งหน้าเอาแต่เขียน                                   ดีแต่เพียงแสดงโง่ทำโอหัง
ฉันก็ว่าธรรมดาอนิจจัง                                               จะผิดมั่งถูกมั่งก็ยังดี
ฉันภูมิใจได้เขียนหนังสือแล้ว                                  ความตายคงไม่แคล้วเร็วเร็วนี่
เอาหนังสือถมไว้ในปถพี                                           แต่อ้ายทุยยังมีเขาหนังไว้ 
มัวแต่รอก็จะราสิน่าคิด                                               อันชีวิตนั้นจะยาวสักเพียงไหน
จะอมภูมิจอนจ่อรอสิ่งใด                                           ผิดนั้นไซร้คือครูฉันบูชา
                                                                                                                    เจือ  สตะเวทิน



เฉลย
กิจกรรม บทที่ ๔
เรื่องการเขียนย่อความ   

ตอนที่ ๑   ( แล้วแต่ดุลยพินิจของครู)

ตอนที่ ๒ 
๑.      การย่อความ คือ การถ่ายทอดใจความสำคัญของเรื่อง ที่เก็บได้จากการอ่าน หรือการฟัง โดยใช้ภาษาของเราเอง 
๒.    บทความมีส่วนประกอบ ๒ ส่วน ดังนี้
๑)     ใจความ  เป็นข้อความที่สำคัญที่สุด  ถ้าตัดใจความออกจะทำให้ไม่เข้าใจบทความนั้น หรือทำให้เนื้อหาสาระในบทความนั้นเปลี่ยนแปลงไป
๒)    พลความ  เป็นข้อความที่ขยายใจความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ส่วนของพลความนี้ถึงจะขาดหายไป  หรือตัดออกไปก็ไม่ทำให้เนื้อหาสาระในบทความนั้นเปลี่ยนแปลง
๓.     หลักการย่อความมี ดังนี้
๑)     อ่านเรื่องที่จะย่อทั้งเรื่อง
๒)    พยายามจับความคิดของผู้เขียนว่าต้องการเสนอสิ่งใด
๓)    จับใจความสำคัญของเรื่อง  โดยตั้งคำถามไว้ในใจว่า  เรื่องอะไร  มีใคร  ทำอะไร  กับใคร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  บังเกิดผลเช่นใด
๔)    นำใจความทั้งหมดที่จับได้  มาเรียบเรียงใหม่โดยคำนึงถึงการที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด  และได้ใจความดีที่สุด
๕)    ถ่ายทอดใจความสำคัญของเรื่องโดยใช้ภาษาของเราเอง
๖)     ถ้าไม่มีชื่อเรื่องให้ตั้งชื่อเรื่องด้วย
๗)    เขียนให้ถูกต้องตามแบบของการย่อความ
๔.     ประโยชน์ของการย่อความ
๑)     บันทึกการประชุมกลุ่มต่างๆ ทำให้ผู้อื่นได้ทราบสาระสำคัญในการประชุม
๒)    จดย่อคำอธิบายของครู  หรือจดย่อความรู้จากการฟังทั่วไป
๓)    จดย่อความรู้จากการอ่าน  ทำให้ไม่ต้องอ่านทวนซ้ำทั้งหมด
๔)    เล่าเรื่องย่อให้ผู้อื่นฟัง
๕)    ตอบข้อสอบแบบอัตนัย

๕.     การใช้ภาษาในการย่อความ
๑)     คำที่ยากและยาวให้เปลี่ยนใช้คำธรรมดาที่เข้าใจง่าย
๒)    ถ้าเป็นบทสนทนาต้องเปลี่ยนเป็นแบบเล่าเรื่อง
๓)    ถ้าเป็นร้อยกรองต้องเปลี่ยนเป็นภาษาธรรมดา
๔)    ย่อจดหมายต้องใช้ข้อความบอกเล่า  โดยใช้สรรพนาม บุรุษที่ ๓ ทั้งหมด
๕)    ถ้ามีคำราชาศัพท์  และใจความสำคัญจำเป็นต้องใช้คำราชาศัพท์  ก็ให้คงคำราชาศัพท์  นั้นไว้

ตอนที่ ๓
๑.      นิทานเรื่องม้ากับลา  ของอีสป  จากหนังสือนิทานอีสป  รวบรวมโดยวิณณา หน้า ๗๖-๘๐ ความว่า
๒.    คำปราศรัยของนายสมัคร  สุนทรเวช  แก่ประชาชนทั่วไป  เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๔ ความว่า   
๓.     จดหมายของนายดำรง  สามัคคี  ถึงนายชาตรี  สุนทร  ลง วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๓ ความว่า   
ตอนที่ ๔  (แนวคำตอบ)
๑.      และ ๒.  ( แล้วแต่ดุลยพินิจของครูผู้สอน)
๓.๑  เรื่องความดีของกษัตริย์เอี่ยงตี่

เรื่องความดีของ กษัตริย์เอี่ยงตี่  ของ ล. เสถียรสุต  จากหนังสือประวัติวัฒนธรรมจีน หน้า ๑๔๒ ความว่า
                กษัตริย์เอี่ยงตี่ได้ปราบปรามชนเผ่าต่างๆ ได้เจาะภูเขาไทฮั้งให้ติดต่อกัน ได้สร้างกำแพงเมืองจีนเพิ่มเติม  และความดีอันยิ่งใหญ่ คือ ได้ขุดคลองซึ่งมีความยาวถึง ๑,๖๐๐ กิโลเมตร  ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศจีนอย่างใหญ่หลวง  แม้พระองค์จะกระทำสิ่งไม่ดีอย่างอื่นไว้  แต่ความดีในการขุดคลองของพระองค์นั้นได้ลบล้างความไม่ดีของพระองค์ให้หมดสิ้นลง






๓.๒  กลอนสุภาพเรื่องผิดเป็นครู   


กลอนสุภาพเรื่องผิดเป็นครู  ของเจือ  สะตะเวทิน  ความว่า                                
                ผู้เขียนกล่าวว่าเคยแต่งกลอนผิด ผู้อ่านได้บอกมาก็นึกขอบใจเขา ที่คอยเป็นครูให้  บางครั้งมีคนติว่าเขียนไม่เป็นแล้วยังอวดดี  เขาก็ไม่โกรธ  เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงานย่อมมีผิดบ้างถูกบ้าง  เขาภูมิใจที่ได้เขียน  และเชื่อคำโบราณที่ว่า  ผิดเป็นครู                                                                        



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


แบบทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน
บทที่ ๔ เรื่อง การเขียนย่อความ

คำสั่ง      จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียว แล้วกากบาทลงในกระดาษคำตอบ

๑.    ข้อความใดบอกลักษณะของการย่อความแบบสรุปความ 
        ก.    การกล่าวเฉพาะความคิดสำคัญ       
        ข.    การกล่าวอย่างกระชับเฉพาะใจความสำคัญ     
        ค.    การกล่าวถึงข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ       
        ง.    การกล่าวถึงเนื้อเรื่องอย่างสั้นๆ  โดยมีตัวละครและความคิดเห็นสำคัญของเรื่อง                      

๒.   ข้อความใดกล่าวไม่ถูกต้อง
        ก.    ใจความที่ย่อแล้วจะเป็นกี่ย่อหน้าก็ได้  
        ข.    ถ้าเป็นร้อยกรองให้เปลี่ยนเป็นภาษาธรรมดา 
        ค.    ถ้าไม่มีชื่อเรื่องให้ใช้ใจความสำคัญตั้งชื่อเรื่อง     
        ง.    ถ้าเป็นบทสนทนาต้องเปลี่ยนเป็นแบบเล่าเรื่อง                

๓.   ข้อความใดอธิบายความหมายของย่อความได้ถูกต้อง
        ก.    เก็บใจความจากพลความ
        ข.    หาข้อเท็จจริงจากย่อหน้าหนึ่งๆ
        ค.    แยกพลความออกจากเนื้อเรื่อง
        ง.    เก็บเนื้อเรื่องเฉพาะที่เป็นใจความ

๔.   ถ้าเอาออกจากบทเขียน  หรือบทพูดก็จะเปลี่ยนแปลงสารทั้งหมด  และข้อความที่เหลืออยู่อาจเข้ากันไม่ได้  ข้อความนี้กล่าวถึงลักษณะของสิ่งใด
        ก.    ใจความ                                             
        ข.    พลความ                                             
        ค.    ข้อคิดเห็น                                                         
        ง.    ข้อความแสดงอารมณ์                                                                   


๕.   ย่อความควรมีกี่ย่อหน้า                
        ก.    ย่อหน้าเดียว                                     
        ข.    เท่าจำนวนย่อหน้าของเนื้อเรื่องเดิม     
        ค.    สามย่อหน้า คือ คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป
        ง.    สองย่อหน้า คือ ย่อหน้าคำนำ  และย่อหน้าเนื้อความซึ่งมักย่อเหลือเพียงย่อหน้าเดียว

๖.    ข้อความใดไม่ได้กล่าวถึงวิธีการย่อความ          
        ก.    เขียนคำนำตามแบบ              
        ข.    คงราชาศัพท์ไว้                        
        ค.    คงสรรพนามเดิมไว้                            
        ง.    ใช้สำนวนภาษาของผู้ย่อ                                                             

๗.   การย่อความนักเรียนควรปฏิบัติตามข้อความใด
        ก.    ตัดคำราชาศัพท์ทิ้งไป             
        ข.    เปลี่ยนสำนวนเป็นของผู้ย่อ              
        ค.    ย่อหน้าทุกครั้งที่ขึ้นตอนใหม่                  
        ง.    เปลี่ยนคำราชาศัพท์เป็นคำสามัญ                          

๘.   การเขียนย่อความควรใช้วิธีเขียนอย่างไรจึงจะดีที่สุด
        ก.    อ่านวิเคราะห์ไปพร้อมกับเขียนย่อไป
        ข.    ตีความแต่ละย่อหน้าแล้วนำมาเขียนเรียงลำดับด้วยสำนวนของตนเอง
        ค.    อ่านจับใจความสำคัญแล้วจึงเรียบเรียงเป็นข้อความด้วยสำนวนตนเอง
        ง.    ขีดเส้นใต้ข้อความที่เป็นใจความสำคัญแล้วนำมาเรียบเรียงเขียนให้ต่อเนื่องกัน

๙.    ข้อความใดไม่ใช่ประโยชน์ของการย่อความ                                                                         
        ก.    การเขียนคำตอบข้อสอบ                                  
        ข.    การตีความบทร้อยกรอง                                  
        ค.    การบันทึกรายงานการประชุม                                           
        ง.    การย่อความรู้จากหนังสือเรียน


๑๐. คำประพันธ์นี้มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการพูดอย่างไร
                                อันพูดนั้นไม่ยากปานใด                  เพื่อนเอย
                ใครที่มีลิ้นอาจ                                                      พูดได้
                สำคัญแต่ที่ใน                                                       คำพูด   นั่นเอง
                อาจจะทำให้ชอบ                                 หรือชัง
        ก.    ความรู้สึกของผู้พูด                                 
        ข.    ความยากง่ายในการพูด              
        ค.    เจตนาที่ผู้พูดต้องการสื่อ         
        ง.    ความสำคัญของถ้อยคำที่พูด

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -




















- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -























ตำราและหนังสือประกอบ

กุหลาบ มัลลิกะมาศ  และวิพุธ โสภวงศ์.  การเขียน ๑.  พิมพ์ครั้งที่ ๘.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๓๒.
บุญยงค์ เกศเทศ, ผศ.  เขียนไทย.  กรุงเทพฯ : ทิพย์อักษรการพิมพ์, ม.ป.ป.
วิณณา (นามปากกา).  นิทานอีสป.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหมิตรออฟเซท, ม.ป.ป.
สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  และอุดม หนูทอง.  การเขียน ๑.  พิมพ์ครั้งที่ ๕.  กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๑.
สุพจน์ ศิริพรเลิศกุล.  เด็กฉลาดเล่มที่ ๓๙.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เม็ดทราย, ม.ป.ป.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3 ความคิดเห็น:

  1. คุณต้องการ:

    ·เงินกู้เพื่อการลงทุนขนาดใหญ่?

    ·สินเชื่อเพื่อการขยายธุรกิจ?

    ·สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่?

    ·เงินกู้เพื่อชำระหนี้และตั๋วเงินระยะยาว?

    ·คุณมีเครดิตไม่ดีหรือไม่?

    ·ธนาคารของคุณล้มเหลวหรือไม่?

    เราเป็นเจ้าหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับธนาคารและรับประกันการเสนอขายที่โปร่งใสโดยเสนอเงินกู้ต่ำดอกเบี้ย (2%) โดยไม่มีหลักประกันและการค้ำประกัน เราอยู่ที่นี่เพื่อยุติปัญหาความยากจนและการว่างงานเนื่องจากทุกคนมีศักยภาพของตนเอง ติดต่อเราวันนี้และคุณจะเป็นหนึ่งในลูกค้าที่นับถือของเรา martharolandloancompany@gmail.com

    ขอขอบคุณ

    นางมาร์ธาโรแลนด์

    ตอบ:

    ตอบลบ